เรื่อง 6 เทคโนโลยีด้าน Lot Security สุดฮอตที่ควรจับดามอง
โลกกำลังหมุนเข้าสู่ยุค Internet of
Things ไม่เพียงแค่แต่ละอุตสาหกรรมต่างนำอุปกรณ์ IoT
และ Big Data Analytics เข้ามาสนับสนุนธุรกิจของตนเท่านั้น
อุปกรณ์ภายในบ้านเรือนเองต่างก็สามารถเชื่อมต่อหากันได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิด
ทีวี ตู้เย็น หรือแม้แต่เครื่องชงกาแฟเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่คนยุคใหม่
อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ IoT ในปัจจุบันกลับยังมีปัญหาด้านความปลอดภัย
ดังที่ปรากฏในข่าวเมื่อปีที่ผ่านมาเมื่อแฮกเกอร์แพร่กระจายมัลแวร์ Mirai สู่อุปกรณ์
IoT กว่า 300,000 เครื่อง
แล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นกองทัพ Zombie เพื่อโจมตีแบบ DDoS ไปยังเป้าหมายที่ต้องการ
ซึ่งขนาด Dyn DNS และ ISP รายใหญ่ของเยอรมนียังตกเป็นเหยื่อ
ส่งผลให้หลายฝ่ายเรียกร้องให้ทั้งภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล
ออกมาตรฐานหรือข้อบังคับสำหรับการผลิตและใช้อุปกรณ์ IoT ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
สรุปประเด็นด้านความปลอดภัยของ IoT ในปัจจุบัน
Forrester หน่วยงานวิจัยและให้คำแนะนำทางด้านเทคโนโลยีและธุรกิจชั้นนำของโลก
ได้ทำการวิเคราะห์ปัญหาและความท้าทายของเทคโนโลยี Internet of Things ในปัจจุบัน
ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้
อุปกรณ์ IoT ส่วนใหญ่ยังคงขาดศักยภาพพื้นฐานด้านความปลอดภัย
มาตรฐานและโปรโตคอลสำหรับ IoT มีจำนวนมากจนเกินไป
ทำให้เป็นจุดบอดทางด้านความปลอดภัย
ขอบเขตและการขยายระบบของ IoT ก่อให้เกิดปัญหาด้าน
Visibility
ความปลอดภัยและความเป็นส่วนบุคคลยังคงที่ถกเถียงกันสำหรับการใช้
IoT
6 เทคโนโลยีด้าน IoT Security ที่ควรจับตามอง
จากปัญหาและความท้าทายที่ได้กล่าวไปข้างต้น Forrester
ได้ทำการวิเคราะห์และคาดการณ์ถึงเทคโลยีสำคัญ 6
รายการทางด้าน IoT Security ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคต ดังนี้
1. ความปลอดภัยบนเครือข่าย IoT
การทำให้ระบบ IoT มีความปลอดภัยต้องเริ่มจากการทำให้โครงข่ายทั้งหมดมีความปลอดภัยเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยของเครือข่าย IoT แตกต่างจากเครือข่ายปกติ
เนื่องจากมีการใช้โปรโตคอล มาตรฐาน และอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่หลากหลาย
ส่งผลให้ความปลอดภัยมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
คาดว่าในอนาคตจะได้เห็นระบบรักษาความปลอดภัยบนเครือข่าย เช่น Firewall, IPS
รวมไปถึง Anti-malware รองรับการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ IoT
มากขึ้น
2. การพิสูจน์ตัวตนบน IoT
การพิสูจน์ตัวตนช่วยให้สามารถตรวจสอบได้ว่า
ใครเป็นเจ้าของอุปกรณ์ IoT รวมไปถึงสามารถบริหารจัดการผู้ใช้เมื่อมีการใช้อุปกรณ์
IoT เช่น รถยนต์อัจฉริยะ ร่วมกันได้
การพิสูจน์ตัวตนบนอุปกรณ์ IoT จะเริ่มเปลี่ยนจากการใช้รหัสผ่านหรือ PIN
แบบเดิมๆ
ไปเป็นการใช้การพิสูจน์ตัวตนที่ทันสมัยและแข็งเกร่งมากยิ่งขึ้น เช่น 2-Factor
Authentication, Digital Certificate และ Biometrics เพื่อป้องกันการโจมตีแบบ
Brute Force หรือ Dictionary Attack อย่างที่มัลแวร์
Mirai ใช้
3. การเข้ารหัสข้อมูลบน IoT
อัลกอริธึมสำหรับเข้ารหัสข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ IoT
และระบบหลังบ้านจะถูกพัฒนาให้รองรับกับอุปกรณ์ IoT ประเภทต่างๆ
รวมไปถึงกระบวนการเข้ารหัสข้อมูลทั้ง Liftcycle เช่น
การบริหารจัดการกุญแจเข้ารหัส จะถูกทำให้เป็นมาตรฐานที่ผู้ผลิตอุปกรณ์ IoT ต้องปฏิบัติตาม
เพื่อปกป้องความลับและความถูกต้องของข้อมูลจากแฮกเกอร์
4. PKI สำหรับ IoT
แน่นอนว่าการเข้ารหัสข้อมูลย่อมมาพร้อมกับการบริหารจัดการกุญแจสำหรับเข้ารหัสที่ดี
ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง Public/Private Key การแจกจ่าย การจัดการ หรือการยกเลิกใช้
เจ้าของผลิตภัณฑ์หลายรายพร้อมที่จะพัฒนาโซลูชันสำหรับบริหารจัดการกุญแจสำหรับเข้ารหัสข้อมูลที่พร้อมรองรับอุปกรณ์
IoT หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ในขณะที่ตัวอุปกรณ์ IoT
เองก็จะถูกพัฒนาให้รองรับการติดตั้ง Digital Certificate จากโรงงานสำหรับให้ซอฟต์แวร์ของ
3rd Party เข้ามาเรียกใช้งานได้ในอนาคต
5. การทำ Security Analytics บน IoT
เราสามารถใช้อุปกรณ์ IoT เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อค้นหาเหตุการณ์ที่ผิดปกติ
หรือขัดกับนโยบายด้านความปลอดภัยได้ ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้จะมีการนำ AI,
Machine Learning และ Big Data Analytics เข้ามาใช้เพื่อสร้างโมเดลสำหรับคาดการณ์และตรวจจับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์
รวมไปถึงลดอัตราการเกิด False Positive ได้ การทำ Security Analytics บนอุปกรณ์
IoT นี้จะเข้ามาปิดจุดอ่อนของระบบรักษาความปลอดภัยแบบเดิมที่ไม่สามารถตรวจจับและป้องกันการโจมตีที่พุ่งเป้าอุปกรณ์
IoT ได้
6. ความปลอดภัยของ API บน IoT
ความปลอดภัยของ API เป็นหัวใจสำคัญในการปกป้องความถูกต้องของข้อมูลที่ส่งไปมาระหว่างแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์
IoT และระบบหลังบ้าน เพื่อให้มั่นใจว่า
เฉพาะอุปกรณ์ ผู้ใช้ และแอปพลิเคชันที่ผ่านการพิสูจน์ตัวตนและมีสิทธิ์เท่านั้น
ที่จะสามารถติดต่อสื่อสารผ่านทาง API ได้
นอกจากนั้นยังช่วยตรวจจับภัยคุกคามและการโจมตีที่พุ่งเป้ามายัง API ได้อีกด้วย
สำหรับองค์กรใดที่ต้องการนำอุปกรณ์ Internet
of Things มาใช้
ควรตะหนักเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานโดยนำเอาระบบความปลอดภัยที่กล่าวมาข้างต้นมาใช้เพื่อความปลอดภัยของระบบเครือข่ายและข้อมูลขององค์กร
ขอขอบคุณค่ะ💓
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น