เรื่องคำกริยา
ความหมายของคำกริยา
คำกริยา คือ คำที่แสดงอาการ การกระทำ
และสภาพของนามหรือสรรพนาม
ชนิดของคำนาม
หลักภาษาไทยได้แบ่งคำกริยาออกเป็น ๔ ชนิด
ดังนี้
๑. อกรรมกริยา คือ
กริยาที่ไม่ต้องมีกรรมมารับข้างท้าย
เพราะมีใจความสมบูรณ์อยู่แล้ว เช่น
ดวงอาทิตย์กำลังจะตกจากฟ้า (จากฟ้า ไม่ใช่กรรมแต่เป็นส่วนขยาย)
น้องร้องไห้อยู่นาน (อยู่นาน
ไม่ใช่กรรมแต่เป็นส่วนขยาย)
ต้นไม้ใหญ่หลังบ้านหัก (หัก เป็นอกรรมกริยา)
๒. สกรรมกริยา คือ
กริยาที่ต้องมีกรรมมารับข้างท้ายจึงจะได้ใจความสมบูรณ์ เช่น
น้องกินข้าวคำใหญ่ (ข้าว เป็นกรรมที่มารองรับคำกริยาคำว่า กิน)
คนงานกำลังซ่อมบ้านให้คุณปู่
(บ้าน
เป็นกรรมที่มารองรับคำกริยาคำว่า ซ่อม)
๓. วิกตรรถกริยา คือ
กริยาที่ไม่มีเนื้อความในตนเอง
ต้องมีคำนาม คำสรรพนาม หรือ
คำวิเศษณ์มาทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็มข้างท้ายจึงจะได้ใจความสมบูรณ์
ได้แก่คำว่า เป็น เหมือน
คล้าย เท่า คือ ดุจ ประดุจ ราวกับ เพียงดัง
เสมือน เช่น
คุณพ่อเป็นตำรวจ (ตำรวจ
เป็นส่วนเติมเต็มของคำกริยา เป็น)
เด็กผู้หญิงคนนี้คล้ายน้องเธอมาก
(น้องเธอ เป็นส่วนเติมเต็มของคำกริยา
คล้าย)
๔. กริยานุเคราะห์ คือ
กริยาที่ช่วยกริยาสำคัญในประโยคให้ได้ใจความชัดเจนยิ่งขึ้น
กริยาชนิดนี้ไม่มีก็ได้ประโยคยังคงสื่อความหมายได้เหมือนเดิม ได้แก่คำว่า
คง เคย กำลัง ต้อง ควร จะ อาจ ถูก เช่น
วันนี้ฝนน่าจะตก
แม่กำลังทำอาหาร
ดำถูกรถชน
หน้าที่ของคำกริยา
๑. กริยาทำหน้าที่เป็นตัวแสดงของประธาน เช่น พ่อครัวปรุงอาหารจานเด็ด
๒. กริยาทำหน้าที่ขยายคำนามที่อยู่ข้างหน้า เช่น
ตำรวจห้ามเล่นปืนฉีดน้ำ
(ฉีดน้ำ ขยายคำว่า ปืน)
๓. คำกริยาทำหน้าที่ได้เหมือนคำนาม หมายความว่านามทำหน้าที่เป็นประธาน
คำกริยาก็ทำหน้าที่เป็นประธานได้
คำนามทำหน้าที่เป็นกรรมคำกริยาบางคำก็ทำหน้าที่เป็นกรรมได้เหมือนคำนาม เช่น
ตื่นนอนตอนเช้าทำให้ร่างกายสดชื่นแจ่มใส
(ตื่นนอนตอนเช้า
เป็นคำกริยาที่ทำหน้าที่เป็นประธาน)
เขาไม่ชอบออกกำลังกาย
(ออกกำลังกาย เป็นคำกริยาที่ทำหน้าที่เป็นกรรมเพราะถูกไม่ชอบ)